“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ
ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน จึงต้องขืนในพรากมาจากเมือง
ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง
ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์ ร่มริโรธรุกขมูลให้พูนผล
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกายฯ”
เหตุบ้านนามเมืองชื่อ “บางพลัด” อันหมายถึง ย่านที่มีการพลัดหลง หรือหลงถิ่น เชื่อว่าพื้นที่เดิมเป็นเรือกสวนแน่นขนัด เมื่อผู้คนอพยพมาอยู่หลังสงครามกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 ย่อมเกิดเหตุการพลัดหลงกัน เข้าออกไม่ถูก อยู่บ่อยครั้ง จึงเรียกลำลองเช่นนี้มาจนเป็นชื่อย่านไปในที่สุด
อีกทางหนึ่ง ในทางภาษาศาสตร์ ภาษามาเลย์ถิ่นใต้ เรียกต้นกะพ้อว่า ปาลัด (Palas) และเมื่อมีคนถิ่นใต้เข้ามาอาศัยในพื้นที่ถิ่นนี้ จึงอาจกลายเสียงเป็น บางพลัด ได้
“บางพลัด” มีฐานะเป็นอำเภอชั้นในอำเภอหนึ่งของจังหวัดพระนคร มีชื่อว่า อำเภอบางพลัด ต่อมาถูกลดฐานะเป็น ตำบลบางพลัด ขึ้นอยู่กับอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เมื่อมีการรวมจังหวัดเป็นจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ตำบลบางพลัดยังคงอยู่กับอำเภอบางกอกน้อย
เมื่อกำหนดระบบการปกครองพิเศษเป็นจังหวัดกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2515 “บางพลัด” มีฐานะเป็นตำบลหรือแขวงหนึ่งอยู่ในพื้นที่เขตการปกครองของอำเภอบางกอกน้อย
เมื่อ พ.ศ. 2532 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบางกอกน้อยและจัดตั้งสำนักงานเขตบางพลัด มีพื้นที่การบริหารการปกครอง รวม 4 แขวง คือ แขวงบางยี่ขัน แขวงบางบำหรุ แขวงบางอ้อ และแขวงบางพลัด
ต่อมา พ.ศ.2534 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขต และพื้นที่แขวงใหม่ระหว่างเขตบางกอกน้อยกับเขตบางพลัดอีกครั้งหนึ่ง โดยให้บางส่วนของแขวงบางบำหรุ และบางส่วนของแขวงบางยี่ขันจากแนวสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งซ้ายทั้งหมดไปขึ้นกับเขตบางกอกน้อย
ขอบคุณแหล่งที่มา :