“บางอ้อ” สายใยมุสลิม ริมฝั่งเจ้าพระยา

เมื่อก่อน ใครๆ ก็เรียกพวกเขาว่า ‘แขกแพ’ นั่นคือสมญานามของ ‘ชาวชุมชนบางอ้อ’ ในอดีต จากอาชีพทำแพ ค้าซุง แม้วันนี้บริบทของพื้นที่และวิถีจะเปลี่ยนไป แต่ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานคู่กับแม่น้ำเจ้าพระยามานับร้อยปี ยังคงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีเรื่องเล่าและมนต์เสน่ห์เสมอ…ต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมนี่เอง ที่เป็นจุดขายให้คนรุ่นใหม่วาดฝันถึงโอกาสสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวชุมชน

บางอ้อเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เดิมเป็นย่านสวนผลไม้นานาชนิด มีลำน้ำคูคลองมากมาย ที่ลาดชายตลิ่งปกคลุมหนาแน่นไปด้วยพันธุ์ไม้น้ำ โดยเฉพาะต้นอ้อ อันเป็นที่มาของชื่อ ‘บางอ้อ’ นั่นเอง

ความเป็นชุมชนของย่านบางอ้อ คาดว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้สงครามในปี พ.ศ. 2310 และมีผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในย่านนี้เรื่อยมา ชื่อของย่านยังเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปรากฏอยู่ใน ‘นิราศวัดเจ้าฟ้า’ ซึ่งประพันธ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า

“ถึงบางอ้อคิดจะใคร่ได้ไม้อ้อ
ทำแพนซอเสียงแจ้วเที่ยวแอ่วสาว
แต่ยังไม่เคยเชยโฉมประโลมลาว
สุดจะกล่าวกล่อมปลอบให้ชอบใจ”

อย่างไรก็ตาม บางอ้อนั้นเป็นย่านที่มีความหลากหลายของผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม ทั้งจีน มอญ และโดยเฉพาะ ‘มุสลิม’ ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ และเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่กันมาอย่างยาวนาน มีมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีบ้านเรือนอยู่ใกล้ชิดติดกันโดยรอย ตามรูปแบบและคำสอนของศาสนาอิสลาม

“หลังจากอยุธยาล่มสลาย แขกสุลต่านกลุ่มหนึ่งอยู่ในราชสำนัก ทำการค้า อีกกลุ่มเป็นชาวบ้านธรรมดา มีบทบาทแตกต่างกันไป กลุ่มที่เป็นชาวบ้านก็มาตั้งรกรากใหม่แถวบางอ้อ มีการผสมผสานกันระหว่างชนชั้น วิถีวัฒนธรรมกันไป ทั้งพ่อค้าแม่ค้าและเจ้าสำนัก พอมาถึงช่วงรัชกาลที่ 5 เราได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้มีกิจการเกิดขึ้นมากมาย สองฝั่งเจ้าพระยา เกิดธุรกิจทำไม้ และแพซุงจำนวนมาก จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีนโยบายปิดป่า ทำให้ไม่สามารถทำการค้าไม้ต่อไปได้ ก็ต้องปรับวิถีกันอีกครั้ง เปลี่ยนจากค้าไม้ซุงเป็นไม้แปรรูป และปรับเป็นธุรกิจอื่นๆ ต่างๆ กันไป แต่หลายกิจการหลังจาก พ.ศ.2475 ก็ล่มสลาย แต่ความเป็นมุสลิมยังอยู่ เรายังพัฒนาที่อยู่อาศัย สร้างมัสยิด และโรงเรียนในชุมชน”

โรงเรียนบางอ้อศึกษา แหล่งเล่าเรียนของเด็ก ๆ ในชุมชน

แม้ว่าพวกเราจะมีที่มาเป็นมุสลิมชาวเปอร์เชีย แต่ว่าได้อยู่ในไทยเป็นเวลานาน ลูกหลานเติบโตมาเป็นคนไทย และยังความตั้งใจที่จะสร้างความเจริญ เพื่อยังประโยชน์สาธารณะ จึงถือกำเนิดโรงเรียนบางอ้อศึกษา เป็นสถานศึกษาบนที่ดินของมูลนิธิดำรงผล ก่อสร้างโดยมูลนิธิบางอ้ออิสลาม ร่วมกับพี่น้องมุสลิมตระกูลต่างๆ ในย่านบางอ้อ เพื่อพัฒนาเยาวชนทั้งทางศาสนาและวิชาการสามัญ แม้ว่าปัจจุบันจะมีความท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการเนื่องจากจำนวนนักเรียนน้อยลง จากการที่จำนวนเด็กเกิดน้อยลง และมีโรงเรียนเอกชนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามโรงเรียนยังหาแนวทางที่จะทำให้กิจการดำเนินต่อไปได้ เช่น อาจจะปรับให้เป็นโรงเรียนสอนในระดับชั้นอนุบาลเพียงอย่างเดียว แต่เน้นการสอนที่มีคุณภาพเหมาะสมกับช่วงวัย

มัสยิดบางอ้อ ศาสนรวมใจมุสลิมในย่าน

การมีอยู่ของมัสยิดเป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมงดงามแห่งหนึ่งของไทย ต้นทุนของมัสยิดและอาคารทรงขนมปังขิงที่อยู่ใกล้กัน เป็นต้นทุนชีวิตที่เรายังใช้ประโยชน์ในการเป็นศาสนสถานทำกิจกรรมเชิงศาสนา ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และวิถีของการประกอบสัมมาอาชีพ อยู่ในที่เดียวกัน เมื่อมีแขกมาจะได้รับการต้อนรับด้วยขนมหรุ่ม ข้าวมะเขือเทศ ขนมไส้แกงกะหรี่ ซึ่งเป็นการอุดหนุนสร้างรายได้ให้กับชาวชุมชนไปในตัว

เลขานุการฯ กล่าวว่า มัสยิดบางอ้อยังเป็นต้นแบบของ “กองทุนซะกาต” หรือ กองทุนรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อจัดสรรให้เป็นทานหรือเพื่อสาธารณกุศล เพื่อส่งเสริมให้ชาวมุสลิม มีบทบาทเป็นผู้ให้ โดยเชื่อว่าทุกคนที่เป็นมุสลิมเป็นคนขยัน เมื่อมีทรัพย์สินทางปัญญา ก็จะพัฒนาให้เป็นประโยชน์ที่สุด

หากในอนาคตภาครัฐจะมีการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มองว่าน่าจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับน้ำ เนื่องจากมีหลายสถานที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นสถานที่สำคัญ หากก็มีการออกแบบพื้นที่ริมน้ำให้มีความสวยงาม เป็นประโยชน์ในการให้ความสุข ความสบาย ความสงบ และให้โอกาสในการเข้าถึงก็น่าจะเป็นผลดี นอกจากนี้ในย่านยังมีลำคลองหลายสาย ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เช่น หลายประเทศมีมีทริปพาล่องเรือชมแม่น้ำ ซึ่งคนที่มาเยี่ยมเยือนแม่น้ำเจ้าพระยาก็สามารถที่จะสัมผัสวิถีดั้งเดิมได้ทั้งฝั่งตะวันออกหรือฝั่งตะวันตก เช่น สวนริมคลองท้องร่อง เขตบางพลัด-บางอ้อ

ชุมชนริมน้ำ เอกลักษณ์สวนท้องร่อง-ภูมิปัญญาช่างศิลป์

ภูมิ ภูติมหาตมะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เล่าว่า ชุมชนบางอ้อ เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากคลองจนถึงปลายคลอง ในเชิงกายภาพฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ หรือฝั่งธนบุรี บางอ้อจะอยู่บนสุดของฝั่งธนบุรี เพราะถ้าข้ามไปจะเป็นบางกรวย-นนทบุรี ซึ่งหากดูจากแผนที่จะเห็นความถี่ของคลองชัดมาก ว่าในบริเวณนี้มีคลองเยอะมาก ตั้งแต่คลองวัดละมุด คลองเตย คลองบางอ้อ คลองสะพานยาว คลองมอญ คลองเตาอิฐ คลองบางรัก คลองบางพลัด คลองบางพระครู คลองมะนาว คลองสวนพริก คลองบางพลู ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดเครือข่ายคลองเหล่านี้คือแม่น้ำ ทำให้ผู้คนที่อยู่ในบริเวณนี้มีวิถี-อาชีพที่ผูกพันกับคลอง โดยดั้งเดิมเป็นชาวสวน มีการจัดการน้ำ-ดิน เกิดภูมิปัญญาสวนท้องร่อง ทำให้ที่นี่เป็นสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์

บางอ้อ-บางพลัด จึงเป็นฐานทุนทางวัฒนธรรมที่มีการสั่งสมมาอย่างยาวนาน ทั้งวิถีความเป็นชาวสวน ทั้งวิถีความผูกพันกับศาสนา หล่อหลอมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่า การทำความเข้าใจอาจจะต้องใช้เวลา และการที่จะนำต้นทุนเหล่านี้มาเผยแพร่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหากจะต้องประยุกต์เพื่อสื่อสารในสังคมร่วมสมัยก็อาจจะต้องคำนึงถึงความเชื่อม จิตวิญญาณ ความผูกพันการให้ค่าในสิ่งต่าง ๆ ที่ชาวบ้านรักษาและดำเนินมา

อนาคต “บางอ้อ” ชุมชนชาวสวนและการท่องเที่ยวยั่งยืน

ประมาณ มุขตารี ตัวแทนชุมชนบางอ้อ กล่าวว่า การต่อสู้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา คนบางอ้อ ชุมชนบางอ้อ ตั้งกลุ่มขึ้นมาเป็นชุมชนรักเจ้าพระยา เราอนุรักษ์และหวงแหนวิถีชีวิตริมน้ำ วันนี้ถือว่าสำเร็จแล้ว จากการที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ยุติการดำเนินโครงการดังกล่าว สำหรับอนาคตของเรา เราต้องการให้ชุมชนดำเนินกิจการเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนริมแม่น้ำ ต้องการทำให้บางอ้อ-บางพลัดเป็นแลนด์มาร์กหนึ่งเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนในกรุงเทพฯ ซึ่งเรามีเอกลักษ์ในเรื่องของอาหารชัดเจน เป็น DNA ของกลุ่ม ซึ่งจะนำเสนอแนวคิดนี้สู่สาธารณะ อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเจ้าพระยา และเกี่ยวข้องกับวิถีความเป็นมาของชุมชน เป็นรากเหง้าที่ทำให้เกิดปัจจุบัน และรากฐานของอนาคต

 

ขอบคุณแหล่งที่มา :