ความเป็นมาของชุมชนแขกแพและมัสยิดบางอ้อ
ตามประวัติคำบอกเล่าของคนในชุมชนกล่าวว่า ‘แขกแพ’ คือกลุ่มชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่บนเรือนแพซึ่งจอดอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำและคลองในอยุธยามาแต่เดิม โดยส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายซุนนี (Sunni) อีกทั้งยังประกอบขึ้นจากผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวอาหรับ ชาวมลายู และชาวจาม ฯลฯ ส่วนมากประกอบอาชีพค้าขายหรือรับราชการเป็นขุนนาง อีกทั้งการที่พวกเขาลงหลักปักฐานในอยุธยาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการแต่งงานกับคนท้องถิ่น ผสมกลมกลืนจนเรียกได้ว่าเป็น ‘มุสลิมท้องถิ่น’ (Localized Muslim) กลุ่มหนึ่งของลุ่มน้ำภาคกลาง
เมื่อถึงคราวกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310 บรรดาแขกแพเหล่านี้อพยพหนีสงคราม ถอนเรือนแพล่องตามลำน้ำเจ้าพระยาลงมาหาทำเลปลอดภัย บ้างเข้าไปสมทบกับชุมชนชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตลาดแก้ว-ตลาดขวัญ (จังหวัดนนทบุรี) แต่ส่วนใหญ่จะล่องแพต่อลงมาจนถึงราชธานีใหม่ที่เมืองบางกอก โดยจะไปรวมตัวกันอยู่ที่กุฎีใหญ่ (มัสยิดต้นสน) ใกล้ปากคลองบางหลวง (บางกอกใหญ่) เพื่อประกอบศาสนกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ในขณะที่แขกแพบางกลุ่มไปตั้งชุมชนบริเวณปากคลองบางกอกน้อย (มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะฮ์) หรือลงใต้ไปจนไปถึงย่านคลองสานและย่านบางลำพูล่าง (เจริญนคร) เหล่าลูกหลานของแขกแพเหล่านี้ยังคงสืบสายสกุล และมีสายสัมพันธ์เครือญาติโยงใยตลอดสายน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อยุธยาจนถึงกรุงเทพฯ จวบจนถึงปัจจุบัน
สำหรับชุมชนมัสยิดบางอ้อ แขกแพกลุ่มหนึ่งได้มารวมตัวกันผูกแพริมตลิ่งย่านบางอ้อ ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่เรือกสวนเพาะปลูกผลไม้ จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษว่า มัสยิดบางอ้อหลังแรกเป็นเรือนไม้บนแพสำหรับใช้ประกอบพิธีละหมาด แต่เมื่อชุมชนขยายจนมีจำนวนคนมาละหมาดมากขึ้น จึงได้ยกมัสยิดเรือนแพขึ้นมาบนฝั่งและขยายต่อเติมให้กว้างขึ้น จนกระทั่งใน พ.ศ. 2462 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนจึงได้อุทิศที่ดินเพื่อเป็นมัสยิด และร่วมกับออกทุนทรัพย์สร้างมัสยิดก่ออิฐถือปูนอย่างดงงามหลังปัจจุบันขึ้น
แรกก่อตั้งมัสยิดบางอ้อ
มัสยิดบางอ้อสร้างขึ้นในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวมุสลิมที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุง พ.ศ. 2310 ได้ล่องแพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาและมาอาศัยบ้านอยู่บนแพก่อนจะขึ้นมาสร้างบ้านที่ริมฝั่งคลองละแวกคลองบางหลวง คลองบางกอกน้อย และปากคลองบางกอกน้อยด้านเหนือจรดวัดดาวดึงส์ จากชุมชนมุสลิมที่มีบ้านไม่กี่หลัง ต่อมาเริ่มขยายกลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น แต่เดิมที่เคยสร้างเรือนไม้สี่เหลี่ยมบนแพเพื่อทำเป็นที่ละหมาดจึงต้องยกเรือนมาสร้างบนพื้นดินในระหว่างปี พ.ศ. 2448-2458 เป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยา ปัจจุบันชื่อว่า ‘อาคารเจริญวิทยาคาร’ ตั้งชื่อตามอิหม่าม ตวนหมิด ซาลิมี (นายเจริญ ซาลีมี-บุญยศักดิ์) จนกระทั่งต่อมาจึงสร้างมัสยิดหลังปัจจุบันเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวกว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร
สถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน
สถาปัตยกรรมของมัสยิดบางอ้อเป็นการผสมกันระหว่างศิลปะเรอเนซองส์ ผสมบาโรก โมกุล ปั้นหยา อาหรับ และเปอร์เซีย โดยมีช่างผู้ก่อสร้างเป็นคนจีน อาคารมัสยิดเป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ประดับลายปูนปั้นไว้โดยรอบ โดยโครงสร้างหลักของอาคารเป็นเรอเนซองส์ที่เน้นถึงเรื่องความสมมาตรและความเป็นสัดส่วนของรูปทรงเรขาคณิต ที่หน้าบันหรือจั่วมีความหรูหราแบบศิลปะบาโรก ขณะที่หลังคามัสยิดเป็นทรงปั้นหยา ส่วนโดมสีเขียวบนหลังคาหออ้าซานได้รับอิทธิพลจากรูปดอกบัวใหญ่ตามคติฮินดูและรูปหม้อน้ำของชาวอาหรับ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของศิลปะโมกุล ทางขึ้นของหออ้าซานทั้งสองข้างเป็นบันไดวนทำด้วยไม้สักมีความแข็งแรงและสวยงาม
อาคารมัสยิดแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนโถงด้านหน้า เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าทอดตัวขนานไปกับแนวลำน้ำเจ้าพระยา ส่วนอาคารที่ 2 เป็นส่วนที่ทำพิธีละหมาด เป็นอาคารเกือบสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ไม่ประกบติดกับส่วนโถง แต่เอียงไปตามทิศทางที่ตรงกับทิศตะวันตก ซึ่งมีความหมายว่าผู้ทำละหมาดจะหันหน้าไปในทิศทางที่มุ่งสู่มักกะฮ์
ขอบคุณแหล่งที่มา :